ช่วงกลางเดือนสุดท้ายในปี 2020 ขณะที่ผมนั่งทำงานอยู่นั้น ก็ได้มีอีเมล์หนึ่งฉบับส่งเข้ามา โดยขึ้นหัวข้อไว้ว่า

“หนังสือชี้แจงจากชมชอบ ฉบับที่ 1”

เนื้อหาใจความว่าด้วยเรื่องการปรับโครงสร้างบริษัทและการปรับตำแหน่ง โดยในเอกสารระบุไว้ว่า คุณจะได้เลื่อนตำแหน่งจาก Head of Frontend Developer เป็น Co — Chief Technology Officer

เมื่อมาถึงวันเลี้ยงปีใหม่ บริษัทได้ประกาศให้ผมและน้องอีก 2 คน (อะตอมและปิงปอง) ได้รับการ Promote ขึ้นเป็น Co-CTO มีผลทำให้ พวกเรา 3 คน ต้องเริ่มงานตำแหน่งใหม่นี้ทันทีเมื่อเริ่มต้นปี 2021…

เริ่มต้นด้วยความไม่รู้อะไรเลย

เรารู้ว่าการเป็น CTO มันต้องดูแลภาพรวมทั้งหมดของฝ่าย Technology (หรือทีมพัฒนา Software) ทั้งหมด ต้องวางแผนงาน ดูแลเรื่องต่างๆ แต่คำถามตอนนั้น คือ แล้วไอ้เรื่องต่างๆ ที่ว่า มันต้องดูเรื่องอะไรบ้างละ แล้วมันต่างจากเดิมยังไง มันต้องมีอะไรที่ต้องทำบ้างแหละ

การวางแผนการทำงานเหรอ?
การจัดการทีมเหรอ?
การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เหรอ?

ก็ทำกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

แต่ก็รู้สึกว่ามันยังไม่ใช้ มันต้องมีอะไรที่มากกว่านั้น

อะไรสักอย่างที่มันจะช่วยเพิ่มมุมมองให้มันกว้างขึ้นสูงขึ้น พยายามงมหาอยู่ 2 สัปดาห์ ก็ยังไม่เจอ สุดท้ายตัดสินใจถามพี่ชมพู (COO) ของบริษัทว่า ผมต้องทำอะไรบ้าง เพราะตอนนี้ผมไปต่อไม่ถูก จึงได้มีการชี้ช่องเกิดขึ้น

ลองขยายมุมมอง

หลังจากงมอยู่หลายสัปดาห์ เห็นที่ท่าว่าจะไม่ไหว เลยได้ขอความช่วยเหลือจาก COO ให้มาชี้ทางสว่าง เริ่มต้นด้วยการที่พี่ชม อธิบายว่าทำไมถึงต้องมี Co-CTO ถึง 3 คน และเปรียบเทียบ Co-CTO ทั้ง 3 คนว่า เปรียบเสมือนกับบริษัทนึง ที่จะประกอบไปด้วย CEO, COO, และ CTO และแต่ละตำแหน่งจะมีหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจน และต้องมีการ Sync ข้อมูลระหว่างกันด้วย

พอพี่ชมพูดจบตรงนี้ก็ ถึงบางอ้อ มองเห็นภาพของทั้ง 3 คนชัดเจนขึ้นมาทันที

ที่ผ่านมาพวกผมทั้ง 3 คน แบ่งหน้าที่กันชัดเจนกันอยู่แล้ว พอมาทำในตำแหน่งใหม่ ก็ยังคงหน้าที่เหล่านั้นอยู่ เลยลืมเรื่องการแบ่งหน้าที่ในฐานะ Co-CTO กันไป

สิ่งที่เรายังไม่ได้ทำเลย คือ แบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบ ในฐานะ Co-CTO

เมื่อจัดแจงพูดคุยแบ่งหน้าที่กันเสร็จ สรุปได้ว่า

ผม เป็นคนดูแลภาพรวมของฝ่าย Tech ทั้งหมด
อะตอม เป็นคนดูแลภาพรวมของโปรเจค
ปิงปอง เป็นคนดูแลทีม Dev และ Technology ต่างๆ ที่ใช้ (ดูแลเชิงลึก)

จะเห็นได้ว่าเราได้แบ่งหน้าที่กันชัดเจนแล้ว และในส่วนของการต้องตัดสินใจ พวกเราก็จะยังร่วมกันตัดสินใจกันอยู่ดี เท่านี้ก็แบ่งหน้าที่กันเรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่ต้องทำหลังจากนั้น

เมื่อมีการแบ่งหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบกันเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็เป็นตัวเนื้องานที่ต้องทำแล้ว โดยผมจะแบ่งออกเป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1. Roadmap

ในส่วนนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  • Business Goal — เป็นนำเอา Goal ของบริษัท มาวิเคราะห์และวางแผน ว่าจะทำให้ได้อย่างที่บริษัทตั้งเป้าไว้ได้อย่างไร ต้องการ Resource อะไรบ้าง เช่น ต้องการคนเพิ่มมั้ย มองหาเครื่องมีอที่เข้ามาช่วย เป็นต้น เพื่อตอบสนองเป้าหมายของบริษัทให้ได้
  • Technology Goal — เป็นการวิเคราะห์ วางแผน และวางเป้าหมายสำหรับการนำเอาเทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เข้ามาใช้งาน ร่วมถึงเเนวโน้มของเทคโนโลยี เช่น ถ้าเราจะนำเอา Data-Driven organization เข้ามาใช้งาน จะเอาเข้ามายังไง เริ่มจากตรงไหน แล้วไปจบที่ตรงไหน หรือเราจะเอา Flutter มาพัฒนาเว็บไซต์มั้ย เป็นต้น
  • Team Goal — เป็นการการวางเป้าหมายของทีม ว่าเราจะนำพาทีมของเราไปในทิศทางไหน อยากให้ทีมในอีก 2–3 ปีข้างหน้าเป็นยังไง เช่น คนในทีมจะต้องมีทักษะอะไร มีภาพรวมของทีมจะต้องเป็นยังไง เป็นต้น

ทั้ง 3 เรื่องนี้ คือ สิ่งที่เราต้องตอบมันให้ได้ ว่าจะนำพามันไปในทิศทางใด

2. Team Management

ต่อมาในส่วนของทีม จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่และมีรายละเอียดที่เยอะพอสมควร โดยจะต้องคอยดูแลและจัดการ และตอบคำถามเรื่องเหล่านี้ให้ได้ อันได้แก่

  • Forecast — เป็นส่วนของการวางเเผนในการรับพนักงานใหม่เข้าเพิ่ม เพื่อให้สามารถนำพาบริษัทไปยังเป้าหมายที่วางไว้ได้ ซึ่งตรงนี้เราวางแผนกันในระยะแบบ 2–3ปี และต้องวางแผนให้แบบต่างๆ ด้วย (แบบ Best Case, Normal Case, Worst Case) ตรงนี้เราต้องวางแผนให้ชัดเจน เช่น ปีนี้ เราต้องการ Front-End กี่คน Back-end กี่คน ช่วงเดือนไหน ถ้าได้คนไม่ครบตามเป้า เป็นต้น แล้วนำมาต่อยอดเพิ่ม ว่าเราจะหาคนเข้ามาเพิ่มได้อย่างไร ด้วยวิธีไหนบ้าง เช่น ประกาศหาแบบเดิมมั้ย หรือจะลองวิธีใหม่ๆ ก็ต้องไปคิดและวางแผนกันมา และนำไปเสนอเพื่อของ Resource ในส่วนนี้
  • Existing — เป็นการวางแผนสำหรับพนักงานเดิม ว่าจะไปในทิศทางไหน ทั้งเรื่องของทักษะ และตำแหน่งที่คาดว่าจะได้รับผิดชอบในอนาคต ซึ่งตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Career part ของแต่ละคนด้วย เช่น ถ้าเราอยากให้คนๆ นี้ ไปทำหน้าที่ไหน เราต้องวิเคราะห์และวางแผนว่าคนๆ นั้นเหมาะสมแล้วหรือยัง ถ้ายังต้องทำยังไงกับคนนั้น ต้องฝึกทักษะไหนเพิ่ม ต้องให้ลองทำสิ่งไหน เพื่อดูว่าเขาพร้อมที่จะทำในตำแหน่งนั้นแล้วจริงๆ รวมถึงการส่งพนักงานไปอบรม หรือมองหา Course ต่างๆ ให้ศึกษาเพิ่มเติม
  • Analyse & Evaluate — เป็นส่วนของการวิเคราะห์และประเมินพนักงานแต่ละคนว่ามีทักษะอะไรบ้าง อยู่ในระดับไหน เป็นยังไงบ้าง มีปัญหาอะไรมั้ย ต้องปรับปรุงตรงไหน พอปรับปรุงแล้วเป็นยังไง ซึ่งจะต้องดูทั้งส่วนที่เป็น Hard Skills และ Soft Skills โดยในส่วนนี้จะทำกันเป็นรายสัปดาห์กันเลยทีเดียว (บริษัทยังมีพนักงานน้อยอยู่เลยทำได้)
  • Collaboration — สำหรับที่บริษัทชมชอบ ส่วนนี้เป็นส่วนที่เราแยกออกมาอย่างชัดเจน เพื่อค่อยตรวจสอบและปรับปรุงการทำงานร่วมกันระหว่างภายในทีม และระหว่างแผนกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น Work process ตอนนี้เป็นยังไง ติดขัดตรงไหน หรือมีปัญหาในการสื่อสารกันหรือเปล่า โดยจะเป็นการวิเคราะห์ วางแผน และปรับปรุงเพื่อให้การทำงานภายในบริษัทคล่องตัวมากขึ้นนั้นเอง

3. Products

ส่วนนี้เป็นเรื่องปกติที่ทำกันมาตั้งแต่ก่อนเป็น Co-CTO แล้ว คือ

  • การวางแผนและปรับปรุงแผนในการพัฒนา Product ของบริษัทตลอดทั้งปี
  • การตัดสินใจต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนา Product เช่น จะทำ Features อะไรก่อนหลัง ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของเรา แต่หากว่าถ้ามี Features ใหม่ที่น่าสนใจ เพิ่มเข้ามาก็จะต้องมาคุยกับ CEO และ COO ว่าจะให้ Priority ตัวนั้นไว้ที่ระดับไหน
  • คำตอบคำถามต่างๆ ที่เกี่ยวกับ Product ที่มีอยู่เดิม กำลังทำ และกำลังจะทำ รวมถึง การคิด Solution หรือ Features ใหม่ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจ

4. Technology

โดยทั่วไปแล้ว เวลาที่ CEO หรือ COO มีคำถามที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ คนที่คาดหวังว่าจะให้คำตอบแก่พวกเขาได้คือ Co-CTO ดังนั้นเราจึงต้องตอบคำถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งที่กำลังสนใจ ใช้งานอยู่ และกำลังวางแผนจะนำเอาเข้ามาใช้งาน รวมทั้งต้องคอยสอดส่อง มองหาเทคโนโลยีใหม่ และแนวโน้มของเทคโนโลยีนั้น เพื่อตัดสินใจว่าจะนำมันมาใช้หรือไม่

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ Co-CTO ต้องทำ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง คอยตรวจสอบ วางแผน และปรับปรุง เพื่อให้ทีมนั้นทำงานได้ดีขึ้น และสิ่งอื่นที่มีเพิ่มเข้ามา คือ

ความรับผิดชอบในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ

อำนาจการตัดสินใจในหลายๆ เรื่องมาอยู่ที่เรา โดยที่เราสามารถตัดสินใจได้เลย และแน่นอนต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจเรื่องนั้นๆ มันทำให้ต้องคิดเราต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น เพราะทุกการตัดสินใจ มีผลลัพธ์ที่ตามมาเสมอ ทั้งดีและไม่ดี ถูกต้องและผิดพลาด

เมื่อเวลาผ่านไป 1 ไตรมาส

ภาพรวมของงาน

เป็นช่วงที่ทำอะไรไปเยอะมาก ทั้งวางแผน ประชุม ตัดสินใจ แต่สำหรับผมยังรู้สึกว่าที่ทำอยู่นั้นยังน้อยไปกว่าที่มันควรจะเป็น ผมคิดว่าผมทำได้มากกว่านี้

สิ่งที่ได้จากการทำงาน

ขอแยกเห็นข้อๆ เลย

  • มุมมองที่กว้างขึ้นจากเดิม เนื่องจากการทำงานที่แตกต่างจากเดิม ทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ
  • ทำให้เข้าใจคนที่อยู่ในแต่ละตำแหน่งมากขึ้น แต่ละคนต่างมีหน้าที่ของตัวเองในแต่ละระดับ โดยแต่ละระดับจะได้รับผลจากตำแหน่งที่อยู่สูงกว่า และจะส่งผลไปยังระดับที่อยู่ล่างกว่า ส่งไปเป็นทอดๆ เพราะฉนั้นเวลาที่เราถูกกดดันจากคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า นั่นแปลว่า คนๆ นั้น ก็ถูกกดดันมาอีกที
  • การรับแรงกดดันและลดแรงกดดัน สิ่งหนึ่งที่ผมรับรู้ได้เลยคือ แต่ละคนจะต้องรับแรงกดดันเข้ามาเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ระดับไหนก็ตาม ยิ่งสูงยิ่งมีแรงกดดันเยอะ หน้าที่ของเราคือ รับแรงกดดันเหล่านั้น และลดมันลง ก่อนที่จะส่งต่อให้คนในทีม แน่นอนว่า แรงกดดันมันไม่หายไป แต่มันจะเบาลงกว่าเดิมแน่นอน
  • ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ทุกๆ การตัดสินใจมีผลตามมาเสมอ ต้องคิดให้มากขึ้น รอบคอบ และรอบด้านยิ่งขึ้น เช่น การตัดสินใจอนุมัติให้ใครสักคนลางาน เราต้องมองเยอะมาก ลาเนื่องด้วยอะไร งานที่เขาทำอยู่เป็นยังไง จะกระทบการกับงานหรือคนที่ต้องทำงานร่วมกันมั้ย แล้วมันมากน้อยแค่ไหน ถ้าเขาจำเป็นต้องลาจริงๆ จะจัดการเรื่อยงานยังไง เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ล้วนต้องเอามาคิดอย่างรอบคอบ ก่อนจะตัดสินใจ
  • การต่อรอง และการเจรจา เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ในบางครั้งหากเราต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราจะต้องหาเหตุผลให้ได้ ว่าทำไมถึงต้องได้สิ่งนั้น มีแล้วในดีหรือเข้ามาช่วยเหลือบริษัทยังไง และหากไม่ได้ตามที่หวัง เราก็ต้องต่อรองเพื่อให้ได้อะไรที่มันใกล้เคียงกับที่เราอยากได้มากที่สุด และแน่นนอนว่าบางอย่างก็ไม่ได้เช่นกัน
  • ทำไมต้อง Co-CTO 3 คน พอมาทำงานจึงได้รู้เลยว่าทำไมถึงได้ใช้ Co-CTO 3 คน เนื่องจากทุกคนยังมือใหม่อยู่ และแต่ละคนก็มีมุมมอง ความรู้ที่แตกต่างกัน เช่น ผมเป็นคนที่ชอบมองภาพรวมแบบกว้างๆ ชอบมองไปข้างหน้าไกลๆ จนทำให้หลายครั้งละเลยสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้าหรือรายละเอียดลึกๆ ไป ก็จะมีน้องๆ ทั้งสองคนช่วยคิดและลงรายละเอียดในส่วนเหล่านั้นให้ การมี Co-CTO 3 คน มันเป็นอะไรที่ลงตัวมากสำหรับผมเหมือนมาเติมเต็มในสิ่งที่แต่ละคนมองข้ามกันไปได้อย่างลงตัว

นี่คือ สรุปทั้งหมดของ ไตรมาสที่ 1 กับ ตำแหน่ง Co-CTO ฝึกหัด ยังต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปอีกเยอะมากๆ แต่ก็สนุกดี แทบไม่ได้เขียนโค๊ดเลย (แอบคิดถึงมันอยู่บ่อยๆ ฮ่าๆๆๆ)